การสร้างประสบการณ์กินราเมนที่ดีนั้น ชามใส่ราเมนมีความสำคัญไม่แพ้รสชาติราเมนเลยทีเดียว
ลองคิดดูว่า…
- ถ้าชามใส่ราเมนของเรานั้นมีมุมที่สูงเกินไป การจะวางตะเกียบก็คงจะไม่สะดวกนัก
- ถ้าปากชามใส่ราเมนนั้นเล็กเกิน การจะใส่เครื่องเคียงหรือ topping ต่างๆ ก็คงต้องวางซ้อนๆ กัน ไม่สามารถจัดเรียงให้ดูสวยงามน่ากินได้
- หรือถ้า.. ชาม.ljราเมนนั้นตื้นเกินไป น้ำซุปดูล้นๆ ทุกครั้งที่จะตักกินก็กระเด็นเปื้อนไปทั่ว
รูปทรงของชาม น้ำหนักของชาม ความโค้งของชาม เป็นปัจจัยที่จะบอกว่าชามนั้นเหมาะที่จะใส่ราเมนหรือไม่ ชามราเมนที่ดี จะถูกออกแบบมาเพื่อให้คนกินมีความสุขและสร้างประสบการณ์ที่ดีในการกินราเมน เชฟราเมนญี่ปุ่นเข้าใจถึงสิ่งนี้และนั้นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจะเห็นชามใส่ราเมนรูปแบบหลากหลายได้ตามร้านขายราเมน เรามาทำความรู้จักกับชามใส่ราเมนที่พบเห็นได้บ่อยๆ ทั้งหมด 7 แบบกัน
สารบัญ
ประเภทชามราเมน
1. Menbachi 麺鉢
เมน-ฮะ-ฉิ มีความหมายว่า “ชามก๊วยเตี๋ยว” รูปทรงของชามเมนฮะฉิจะใหญ่และลึกกว่าชามราเมนทั่วไป ปากของชามจะใหญ่และกว้าง เหมาะสำหรับใส่ราเมนที่ใส่น้ำซุปเยอะ
2. Ohgigatadon 扇型丼
โอ-กิ-กา-ทะ(ตะ)-ดง หมายถึง “ชามทรงใบพัด” ชามทรงนี้จะมีก้นชามที่แคบ ปากชามกว้าง โดยชามทรงนี้นิยมใช้มากในร้านอาหาร เพราะหยิบจับถนัดมือ สามารถวางซ้อนกันได้ ประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บ ด้วยความที่ก้นชามแคบ ปากชามกว้าง ปริมาณอาหารที่จะใส่ลงในชามจะน้อยกว่าชามทรงอื่นๆ ชามโอกิกาทะดง ถูกมองว่ามีความทันสมัยและโมเดิร์นมากกว่าชามทรงอื่นๆ ส่วนมากจะนิยมใช้มากในร้านอาหารระดับไฮเอนท์ ที่เน้นคุณภาพของราเมนมากกว่าปริมาณ
3. Tayoudon 多用丼
ทะ-โยว-ดง ถูกเรียกขานกันในชื่อ “ชามอเนกประสงค์” ชามทะโยวดง ใช้กันแพร่หลายในร้านราเมนสมัยใหม่ที่เปิดหลังปี 2000 ส่วนมากจะเป็นร้านราเมนที่ขายความครีเอทีฟของเมนูอาหารและมีราคาค่อนข้างสูง หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น ราเมนฟิวชั่นส์ ที่เมนูอาหารจะแตกต่างจากร้านราเมนแบบดั่งเดิมจำพวกโชยุราเมง (shoyu ramen) , มิโซะราเมน (miso ramen) ด้วยความที่ถูกเรียกว่า “ชามอเนกประสงค์” ชามทะโยวดง ยังนิยมนำไปใส่เสิร์ฟในเมนูเส้นแบบอื่นๆ ทั้งอูด้งและโซบะอีกด้วย รูปทรงของชามทะโยวดง ยังเข้ากันได้ดีมากๆ กับเมนูข้าวหน้า เช่น ข้าวหน้าคัตสึด้ง (katsudon) หรือ โอยะโกะด้ง (Oyakodan)
4.Hira Tayoudon 平多用丼
ฮิ-รา-ทะ-โยว-ดง คือชามทะโยวดง เวอร์ชั่นปากบานและเตี้ยกว่า ด้วยความที่สามารถใส่ราเมนได้หลากหลายกับชามทรงนี้ ดังนั้นชามฮิราทะโยวดง จึงใช้กันมากในร้านราเมนทั่วไป ที่ราคาไม่แพง เน้นปริมาณอาหารมากในราคาถูก
5. Tamadon 玉丼
ทะ-มะ-ดง หมายถึง “ชามทรงกลม” ชามทรงนี้จะมีขอบปากชามหนาและทรงชามโค้งกลม ขอบปากชามที่หนาช่วยให้ชามแตกบิ่นยาก ชามทะมะดง ใช้สำหรับใส่ราเมนที่มีเครื่องเคียง หรือ topping เยอะหลากหลาย
6. Koudaidon 高台丼
ชาม โคว-ได-ดง มีลักษณะก้นชามสูง โดยฐานชามที่สูงจะช่วยป้องกันความร้อนของน้ำซุปเวลายกถือ ปากชามโควไดดง จะมีความบานออกเล็กน้อย ทำให้สามารถมองเห็นน้ำซุป เส้นราเมน และtopping ได้ชัดเจนในแว๊บแรก ชามโควไดดงมักใช้ในร้านราเมนราคาประหยัด ที่เน้นความสะดวกของลูกค้ามากกว่าประสบการณ์การกินราเมงที่ดูดดื่ม
7. Marukoudaidon 丸高台丼
ชาม มา-รุ-โคว-ได-ดง คือชามโควไดดง เวอร์ชั่นทรงกลม โดยมีลักษณะทั่วไปเช่นเดียวกับชามโควไดดง เพิ่มเติมคือจะมีขอบปากบานออกมากยิ่งขึ้น เหมาะสำหรับใส่เสิร์ฟเมนูราเมนและข้าวหน้าต่างๆ ดีไซน์ของปากชามลักษณะนี้ ทำให้ง่ายต่อการหยิบจับและยกเสิร์ฟได้อย่างไม่ร้อนลวกมือ
How to : การเลือกขนาดของชามใส่ราเมนที่ถูกต้อง
ไซส์ชามที่นิยมใช้กัน :
7.5 นิ้ว (19ซม.) : ขนาดเหมาะสำหรับใส่ราเมนทำกินเองในบ้าน เพราะปริมาณจะพอเหมาะพอดีกับราเมนหรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป1 ซอง และสามารถใส่ topping เพิ่มเติมได้นิดหน่อย
8 นิ้ว (20.5ซม.) : ขนาดที่นิยมใช้กันเยอะที่สุดสำหรับร้านอาหาร
9 นิ้ว (23ซม.) : เป็นชามใส่ราเมนอีกหนึ่งขนาดที่นิยมใช้กันมากในร้านอาหาร สามารถใส่ราเมน ใส่น้ำซุป และ topping เพิ่มเติมได้ในปริมาณมาก
เห็นมั้ยว่า การเลือกชามนั้นมีรายละเอียดที่น่าทึ่งมาก เพราะมันจะเป็นการสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างให้กับผู้รับประทาน
ชามอาหารญี่ปุ่น กับสัดส่วนทองคำ
รู้หรือไม่ว่า…
ชาวญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมความเชื่อเกี่ยวกับ “สัดส่วนทองคำ” ระหว่างชาม และ ปริมาณอาหารที่บรรจุน้ำซุป เส้นราเมน และเครื่องเคียงทั้งหมดควรอยู่ในสัดส่วนประมาน 70-80%ของชาม นั้นคือ “สัดส่วนทองคำ” ระหว่างชามและอาหารภายในชามที่ชาวญี่ปุ่นเชื่อถือ มันคงจะดูไม่ดี ถ้าน้ำซุป เส้นราเมน และเครื่องเคียงต่างๆ ในชามราเมนดูล้นจนเกินไป (นี่ยังไม่รวมถึงโอกาสที่จะทำให้น้ำซุปกระเด็นเปื้อนออกมาอีกนะ!)
การยกชามที่ใส่จนล้นเกินไปด้วยมือเปล่าก็ไม่ปลอดภัย เพราะมันทั้งหนักและร้อน เพื่อหลีกเลี่ยงการร้อนลวกมือและการกระเด็นของน้ำซุป ปริมาณสัดส่วนที่พอเหมาะสำหรับใส่ราเมนจึงอยู่ที่ 70-80% ของตัวชาม
Ramen bowl capacity ปริมาณการบรรจุของราเมน
34ออนซ์ (1,000ml.) : คือขนาดที่พอเหมาะสำหรับการทำราเมนกินเองตามบ้าน เพราะมันจะพอดีกับขนาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วไป แต่! ก็อาจจะเล็กไปซักหน่อย สำหรับคนกินจุ 😋
45ออนซ์ (1,350ml.) : นิยมใช้กันสำหรับราเมนที่เสิร์ฟตามร้านอาหาร ปริมาณของชามจะใหญ่ สวยงามกำลังดี และสะดวกต่อการยกเสิร์ฟ
57ออนซ์ (1,700ml.) : เป็นชามอีกหนึ่งขนาดที่นิยมใช้กันตามร้านอาหาร ที่สามารถใส่น้ำซุป เส้นราเมน และเครื่องเคียงได้ในปริมาณมาก เรียกว่ากินกันให้จุก หายอยากราเมนกันไปเลยจ้าาา
ความสูงก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่มีผลต่อการเลือกชาม ควรมีความสูงอย่างน้อยๆ 3นิ้ว (7.5ซม.) เพื่อที่จะเก็บกักความร้อนในชามให้อยู่ได้นาน ไม่ให้ราเมนเย็นเร็วจนเกินไป ทำให้เสียรสชาติ
3นิ้ว (7.5ซม.) : เหมาะสำหรับทำราเมนกินเองในบ้าน ขนาดพอดีกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ห่อ เหมาะกับการรับประทานหนึ่งคน
3.5นิ้ว (9ซม.) : ขนาดสำหรับใช้กันในร้านอาหาร เป็นขนาดที่จุราเมนได้ในปริมาณมาก
4นิ้ว (10ซม.) : อีกหนึ่งขนาดชามที่เป็นตัวเลือกสำหรับร้านอาหารระดับโปร การพรีเซนต์หน้าตาอาหารจะดูสวยและหมดกังวลเรื่องน้ำซุปกระเด็นหกเลอะ
การกินราเมนคือหนึ่งในวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่น และชาวญี่ปุ่นก็ขึ้นชื่อในเรื่องความพิถีพิถันยิ่งนัก รู้หรือไม่ว่า ชามราเมนหนึ่งใบนั้นมีองค์ประกอบหลายอย่างรวมอยู่ และในแต่ละองค์ประกอบหลักนั้นก็มีชื่อเรียกของมันอยู่ ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าอรรถรสในการรับประทานอาหารไม่ได้ขึ้นอยู่กับรสชาติเพียงอย่างเดียว
แต่มันยังรวมถึงการพรีเซนต์ของอาหารจานนั้นอีกด้วย
องค์ประกอบหลักทั้ง 5 ของชามราเมน
- Mikomi (ก้นชามด้านใน)
มิโคมิ (ก้นชามด้านใน) : ชามแต่ละแบบถูกออกแบบอย่างพิถีพิถันใส่ใจในรายละเอียดตามสไลต์ของคนญี่ปุ่น บางครั้งคุณอาจจะต้องแปลกใจ ถ้าลองซดราเมนจนหมดชามและพบกับโลโก้หรือสัญลักษณ์บางอย่างที่ใต้ก้นชาม เสน่ห์ตรงนี้ จะมีแค่คนที่กินราเมนจนหมดชามเท่านั้นถึงจะได้เห็น
- Koen (ขอบปากชาม)
โคเอ็น หรือ ขอบปากชาม : มีความหมายในภาษาญี่ปุ่นว่า “รอบๆริมฝีปาก (around the mouth)”
ความหนาของขอบปากชามจะให้สัมผัสที่แตกต่างกัน โดยคนญี่ปุ่นนิยมยกน้ำซุปซดโดยตรงจากชาม ดังนั้นขอบปากชามควรจะให้สัมผัสที่ลื่นไหลและบางเบา แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องระวังด้วย เพราะขอบปากชามที่บางเกินไป ก็จะทำให้ชามแตกบิ่นง่าย
- Dou (ตัวชาม)
คือตัวของชาม ซึ่งจะอยู่ระหว่าง ขอบปากชาม (Koen) และ ช่วงสอบหรือช่วงที่เริ่มแคบลง (Koshi) ของตัวชาม โดยมากบริเวณตัวชามของชามราเมนมักจะถูกตกแต่งด้วยลวดลายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด หรือลายเส้น (รอบหน้ากินราเมน อย่าลืมสังเกตุกันดูนะ)
- Koshi (ช่วงสอบหรือช่วงที่เริ่มแคบลงของชาม)
คือช่วงสอบหรือช่วงที่เริ่มแคบลงของตัวชาม จะอยู่ระหว่างตัวชาม (Dou) และ ฐานของชาม (Kodai)
- Kodai (ฐานชาม)
คือส่วนฐานของชาม เป็นส่วนที่ทำให้ชามมั่นคง เมื่อใส่น้ำซุปร้อนๆ ลงในชาม การจับที่ฐานของชาม (Kodai) จะทำให้จับได้มั่นคงและไม่ร้อน ชามราเมนที่มี Kodai ยิ่งใหญ่ ก็จะยิ่งทำให้ตัวชามนั้นมั่นคง
Ramen Bowl Material วัตถุดิบที่ใช้ผลิตชาม
ตอนนี้เราได้รู้จักกับรูปแบบและขนาดต่างๆ ของชามใส่ราเมนกันแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้และต้องพูดถึงคือ วัตถุดิบที่ใช้ผลิตชาม มาดูว่าวัตถุดิบชนิดไหนที่เหมาะกับการใช้งานของคุณมากที่สุด
เซรามิค
ชามที่ทำจากเซรามิคจะมีข้อดีในการกักเก็บความร้อนของน้ำซุปไว้ได้นาน โดยชามที่ผลิตจากเซรามิคถือว่าเป็นงาน hand crafted หรืองานที่ผลิตด้วยมือ เสน่ห์ของมันอยู่ที่ ชามแต่ละใบจะไม่เหมือนกันเลย ซึ่งสิ่งนี้คือประสบการณ์ที่แตกต่างที่ลูกค้าผู้รับประทานจะได้รับจากชามที่ทำจากเซรามิค
นอกจากนี้ ชามเซรามิคยังสามารถใช้ล้างกับเครื่องล้างจานได้ และสามารถนำเข้าเครื่องไมโครเวฟได้เช่นกัน (ยกเว้นชามเซรามิคบางประเภท ที่มีการวนเส้น หรือทำลายด้วยทอง) ยังไงก็แล้วแต่ หากต้องการรักษาชามเซรามิคให้ใช้ได้นาน วิธีที่ดีที่สุดคือการล้างด้วยมือ
เมลามีน
ชามที่ผลิตจากเมลามีนจะช่วยในเรื่องของการส่งผ่านความร้อนของน้ำซุปในชามกับภายนอก โดยความร้อนที่ถูกส่งผ่านออกมาจะน้อยกว่า ทำให้เรายกถือชามได้ง่าย ไม่ร้อนลวกมือ นอกจากนี้ชามเมลามีนยังมีน้ำหนักเบาและไม่แตกง่าย จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการใช้งานในบ้านที่มีเด็กเล็ก หรือร้านอาหารที่ต้องการลดต้นทุนทางภาชนะ ชามเมลามีนสามารถนำเข้าเครื่องล้างจานได้และปลอดภัยสำหรับการใส่ของร้อนที่มีอุณหภูมิตั้งแต่ -30 – 120 องศาเซลเซียส แต่สิ่งที่ควรระวังอย่างหนึ่งคือ ชามเมลามีนนั้นไม่เหมาะที่จะนำเข้าอุ่นอาหารในไมโครเวฟ
โลหะ
ชามที่ทำจากโลหะ จะไม่เป็นที่นิยมมากเท่ากับชามที่ทำจากเซรามิคหรือเมลามีน เนื่องจากภาชนะที่ทำจากโลหะจะส่งผ่านความร้อนได้มากกว่าและยังมีโอกาสขึ้นสนิมอีกด้วย
ส่วนประกอบทางด้านเทคนิคของภาชนะจากโลหะ สำหรับภาชนะสเตนเลส 304 ที่ได้รับการยอมรับว่าปลอดภัยต่อการบริโภค (food-grade) มีส่วนประกอบของเหล็กไม่น้อยกว่า 50 % และมีคาร์บอนไม่เกิน 0.8 % ทั้งนี้ส่วนประกอบของโครเมี่ยมและนิกเกิ้ลที่มีอยู่ในภาชนะโลหะจะช่วยป้องกันการออกซิไดน์ของเหล็กและป้องกันการกัดกร่อนอันอาจก่อให้เกิดสนิมได้ อย่างไรก็ตาม ชามสเตนเลสสองชั้น (double-walled stainless steel) จะช่วยกักเก็บความร้อนภายในชามไม่ให้ลวกมือได้
ตอนนี้เราเข้าใจเกี่ยวกับชามสำหรับราเมนมากพอสมควรแล้ว ทั้งเรื่องของรูปแบบ ขนาด และวัตถุดิบที่ใช้ผลิตชามราเมน ต่างให้ประสบการณ์การกินราเมนที่แตกต่างกัน ครั้งหน้าที่คุณเข้าร้านราเมน หวังว่าคุณจะได้รับประสบการณ์กินราเมนที่ต่างออกไปจากเดิม
อ้างอิงจาก : https://www.apexsk.com/blogs/japan-lifestyle/ramen-bowl-shapes-sizes-and-material-how-to-find-the-perfect-one-for-you
ฟีนิกช์แวร์ จำหน่ายจานชาม ถ้วยน้ำจิ้ม แก้วน้ำ ช้อน เซรามิค เมลามีน หลากสไตล์ พร้อมดีไซน์ตอบโจทย์ทุกการใช้งาน เหมาะกับทุกธุรกิจอาหาร ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหารทั่วไป โรงอาหาร ศูนย์อาหาร โรงแรม ภัตตาคาร ร้านบุฟเฟ่ต์ ชาบู-หมูกระทะ หรือเหมาะกับใช้งานใน องค์กรภายใน สำนักงาน และใช้ในครัวเรือน
และสำหรับลูกค้าที่ต้องการสร้างเอกลักษณ์ให้กับร้านอาหาร หรือสร้าง Branding ให้กับองค์กร เรามีบริการรับทำ ‘สินค้าพรีเมี่ยมติดโลโก้ (Custom Premium Logo Product)’ เพื่อการสร้างภาพจำแก่ลูกค้า หรือจะมอบเป็นของขวัญพิเศษ ของที่ชำร่วย ของ Souvenir ในโอกาสสำคัญ ทำ Special Gift Set เราพร้อมบริการให้แก่คุณ ด้วยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญพร้อมให้บริการ และปรึกษาฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย